ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาล
การก่อตั้งเดิมที โรงพยาบาลกระบุรี เป็นสถานีอนามัยชั้นสองประจำอำเภอกระบุรี ก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔อยู่ติดกับที่ทำการเทศบาลตำบลน้ำจืดในปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ได้ขยายเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง มีแพทย์ประจำหนึ่งคน มีพยาบาลหนึ่งคน เจ้าหน้าที่พยาบาลสามคนการขยายตัว ปี พ.ศ. ๒๕๒๐กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างโรงพยาบาลกระบุรีขนาด ๑๐เตียง และสำเร็จเปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๓ธันวาคม ๒๕๒๑โดยมีนายจำลอง พลเดช ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาลกระบุรีสร้างขึ้นบนเนื้อที่๑๑ไร่ ซึ่งเดิมเป็นสุสานสาธารณประโยชน์ของกระทรวงมหาดไทย โรงพยาบาลตั้งอยู่บนเนินเขาหันหน้าไปทางทิศใต้ มีถนนที่ราดยางที่สูงชันจากถนเพชรเกษมถึงหน้าตึกโรงพยาบาลระยะทางประมาณ ๑๐๐เมตร และโรงพยาบาลอยู่ห่างจากตลาดสดประมาณ ๕๐๐เมตร มีตึก ๑หลัง พร้อมหอประปา ซึ่งใช้น้ำจากเทศบาลตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี มีโรงซักฟอก ๑หลัง และรั้วด้านหน้าโรงพยาบาล
โรงพยาบาลได้ให้บริการแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้โรงพยาบาลมีสถานที่ให้บริการคนไข้ได้ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดระนองได้เล็งเห็นปัญหานี้ของโรงพยาบาล จึงจัดงบประมาณพัฒนาจังหวัด เพื่อใช้ในการก่อสร้างตึกเอ็กซเรย์ขึ้น และปรับถนน หน้าโรงพยาบาลให้ดีขึ้นเพื่อความสะดวกในการเดินทางของคนไข้ที่จะมารับบริการจากโรงพยาบาล
เนื่องจากระนองมีฝนตกชุก ทำให้เกิดปัญหากับคนไข้และญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ดังนั้นโรงพยาบาลจึงได้สร้างอาคารเอนกประสงค์ขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บรถและเป็นที่พักของคนไข้และญาติชั่วคราวหลังจากนั้นโรงพยาบาลได้รับจัดสรรงบประมาณสร้างโรงปั่นไฟขึ้นอีก ๑หลัง เนื่องจากเกิดปัญหาไฟฟ้าของอำเภอกระบุรีดับบ่อย
ด้านการประปาของอำเภอกระบุรีมีปัญหาน้ำประปาไม่ค่อยไหลจึงทำให้เกิดปัญหาต่อโรงพยาบาล ดังนั้นกองสุขาภิบาลเขต ๘จึงมาทำการขุดเจาะบ่อบาดาลและเดินท่อประปาเข้าถังกรองสำหรับสูบน้ำขึ้นมาใช้ในโรงพยาบาลกระบุรี
จากปริมาณคนไข้ที่มารับบริการจากโรงพยาบาลรวมทั้งอัตราการครองเตียงที่สูงขึ้นทำให้โรงพยาบาลกระบุรีได้รับจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขให้ก่อสร้างตึกผู้ป่วยใหม่อีกหนึ่งหลังขยายการบริการเป็นโรงพยาบาลขนาด ๓๐เตียง ในปีงบประมาณ ๒๕๓๖ซึ่งได้เปิดบริการมาจนกระทั่งทุกวันนี้
เมื่อโรงพยาบาลกระบุรีได้ขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด ๓๐เตียง ทำให้บุคลากรของโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นโรงพยาบาลจึงได้รับจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการบ้านพักเพื่อรองรับจำนวนบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุขให้ก่อสร้างอาคารดังนี้
ปีงบประมาณ ๒๕๓๘ สร้างบ้านพักระดับ ๓ - ๔จำนวน ๑หลัง, อาคารพักพยาบาล ๑๒ห้อง จำนวน ๑หลัง
ปีงบประมาณ ๒๕๓๙ บ้านพักระดับ ๓ - ๔จำนวน ๑ หลัง บ้านพักระดับ ๕-๖จำนวน ๑ หลัง
ปีงบประมาณ ๒๕๔๐ บ้านพักระดับ ๓ - ๔จำนวน ๑ หลัง บ้านพักระดับ๕-๖ จำนวน ๑ หลัง
ด้านถนนได้รับการปรับปรุงจากเดิมที่เป็นถนนลาดยาง โรงพยาบาลกระบุรีได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ในปีงบประมาณ ๒๕๓๗ส่วนหนึ่ง และในปีงบประมาณ ๒๕๔๐ อีกส่วนหนึ่งส่วนระบบประปาซึ่งจากเดิมเป็นเพียงการสูบน้ำบาดาลและเดินท่อประปาผ่านถังกรอง โรงพยาบาลกระบุรีได้รับจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการก่อสร้างระบบประปามาตรฐานขึ้นในปีงบประมาณ ๒๕๓๙
ทำเนียบผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบุรี
๑. นายแพทย์จตุพร เทียมทัน ๒๕๒๐ – ๒๕๒๒
๒. นายแพทย์ธวัชชัย ธิรานุชิต ๒๕๒๒ – ๒๕๒๓
๓. นายแพทย์อธิศักดิ์ ตันสุเมธ ๒๕๒๓ - ๒๕๒๕
๔. แพทย์หญิงวรรธนี วิธินันทกิต ๒๕๒๕ - ๒๕๒๖
๕. นายแพทย์วิเชษฐ์ ปิติเกื้อกูล ๒๕๒๖ - ๒๕๔๐
๖. นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร ๒๕๔๐ - ๒๕๔๓
๗. นายแพทย์พิสัณห์ นามเกิด ๒๕๔๓ - ๒๕๔๕
๘. นายแพทย์ประพนธ์ เปี่ยมอนันต์ ๒๕๔๕ – ๒๕๔๗
๙. นายแพทย์ภัสรเทพย์ อนุรักษ์ไพบูลย์ ๒๕๔๗ – ๒๕๔๘
๑๐. นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ฐิติพันธ์ดำรง ๒๕๔๘ – ๒๕๕๐
๑๑. นายแพทย์นพพร สัตตบงกช ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑
๑๒. นายแพทย์สันติ กิจสิริวิศาล ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓
๑๓. นายแพทย์ชัยพร สุชาติสุนทร ๒๕๕๓ - ๒๕๕๕
๑๔. นายแพทย์อดิศักดิ์ ยังสุนิตย์ ๒๕๕๕-๒๕๖๑
๑๕. นายแพทย์นรเทพ อัศวพัชระ ๒๕๖๑-๒๕๖๒
๑๖. แพทย์หญิงศวิตา เขมะพันธุ์มนัส ๒๕๖๒-๒๕๖๓
๑๗. นายแพทย์นรเทพ อัศวพัชระ ๒๕๖๓-๒๕๖๔
๑๘. นายบำรุง โกยทอง ๒๕๖๔-๒๕๖๖
๑๙. แพทย์หญิงณัฐณิชา แซ่นึ่ง ๒๕๖๖-ปัจจุบัน
|